ประเภท และหน้าที่ของ "เครน" ใช้ทำอะไรได้บ้าง
เครนคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เครน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปั้นจั่น“ เครน คือ เครื่องจักรกลที่ใช้ยกสิ่งของหนัก ขึ้นลงตามแนวดิ่ง และเคลื่อนย้ายสิ่งของในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบแล้วเคลื่อนที่ไปมาโดยรอบหรือตามทิศทางที่กำหนดไว้ โดยการออกแบบเครนนั้น จะใช้คานตรงกลางของเครนเป็นที่รับน้ำหนักของการยก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการออกแบบให้แข็งแรงและปลอดภัยต่อการใช้งาน โดยทั่วไปในอุตสาหกรรม จะใช้รูปแบบของเครน เป็นตัวแบ่งประเภทของเครนตามลักษณะของเครนที่รับน้ำหนัก
ซึ่งประเภทของเครน ถูกแบ่งได้ดังนี้
1. เครนเหนือศรีษะ และเครนขาสูง (Overhead Crane and Gentry Crane)
เครนที่ใช้ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่มากเป็นเครนไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมใช้กันมากที่สุดสำหรับทุกโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพราะมีโครงสร้างที่ไม่ใหญ่มากนักและใช้พื้นที่น้อย สามารถเคลื่อนที่ยกวัตถุได้ง่าย มีน้ำหนักที่ไม่มากไม่ทำให้โครงสร้างของสถานที่ใช้งานรับภาระน้ำหนักที่หนักมากเกินไป
2. เครนหอสูง (Tower Crane)
เครนที่นิยมใช้ในการก่อสร้าง เนื่องจากความสูงของตัวเครนและการใช้ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักได้มากสามารถทุ่นแรงงานได้จำนวนมาก แต่เครนชนิดนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมากเนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุจะเป็นอันตรายอย่างมาก
3. รถเครน เรือเครน (Mobile Crane)
เครนที่ใช้ในการเคลื่อนที่ไปในที่ต่าง ๆ เน้นความสะดวกเป็นหลักยกน้ำหนักได้ไม่มาก แต่ถ้าเป็นเรือเครนจะยกน้ำหนักได้มาก ใช้ในเรือเป็นหลักรวมถึงท่าเรือด้วย
แยกเครนออกเป็นการใช้งาน 2 แบบ คือ
1. เครนชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Cranes) คือ เครนที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุม และเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนยานที่ขับเคลื่อนในตัวเอง
2. เครนชนิดอยู่กับที่ (Stationary Cranes) คือ เครนที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนหอสูง ขาตั้ง หรือบนล้อเลื่อน
ยกตัวอย่าง เครนชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Cranes) ดังนี้
👉 รถเครนล้อยาง (All Terrain Cranes) คือ รถบรรทุกล้อยางที่มีเครนอยู่ด้านหลังหรือด้านบน ล้อยางเคลื่อนที่ทุกล้อ สามารถวิ่งได้เร็วคล้ายรถบรรทุก ทำงานในพื้นที่ขรุขระหรือพื้นที่สมบุกสมบันได้ รถเครนล้อยางนั้นจะสมบุกสมบันน้อยกว่าเครนรถแบบตีนตะขาบ มีบูมเฟรมเป็นท่อน ๆ เคลื่อนที่เข้าออกภายในบูมท่อนแรก มุมเลี้ยวแคบควบคุมให้เคลื่อนที่เข้าพื้นที่กีดขวางมุมหักศอก และองศาเลี้ยวน้อย ๆ ได้ดี มีขนาดตั้งแต่ 25 ตัน ขึ้นไป
👉 รถเครนตีนตะขาบ (Crawler Crane) คือ เครนที่มีการเคลื่อนที่ด้วยตีนตะขาบ และส่วนใหญ่มีบูมเป็นแบบบูมสาน (Lattices Boom) เหมาะสมกับการใช้ในไซด์งานที่บุกเบิกใหม่ พื้นที่ยังไม่ถูกบดอัด ติดหล่มยาก แต่ไม่แนะนำให้ใช้งานแบบวิ่งต่อเนื่องเป็นระยะทางคราวละหลายร้อยเมตร เพราะจะทำให้ชุดกลไกของล้อสึกเร็ว มีขนาดตั้งแต่ 50 ตัน ไปจนถึง 100 ตัน
👉 รถเครน 4 ล้อ (Rough Terrain Cranes) คือ รถแครนที่ออกแบบเพื่อใช้งานในสภาพพื้นที่ที่ขรุขระ ขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ ไม่เหมาะสมกับงานระยะทางที่วิ่งไกล ทำงานในพื้นที่บุกเบิกใหม่ได้หากติดหล่มมีชุดกว้านช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ไม่สมบุกสมบันเหมือนเครนล้อตีนตะขาบ, วิ่งข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัดได้แต่ใช้ความเร็วได้ต่ำกว่าทรัคเครน มีขนาดตั้งแต่ 8 ตัน ขึ้นไป
👉 เครนติดรถบรรทุก (Truck Loader Crane) คือ รถบรรทุกที่มีเครนติดตั้งอยู่บนรถบรรทุก ใช้ยกของขึ้นตัวรถบรรทุกขนาดไม่ใหญ่มาก มีแบบพับหลัง และแบบปกติ เครนติดรถบรรทุกขนาดใหญ่ ๆ สามารถยกของได้ถึง 8 ตัน ตัวรถสามารถวิ่งด้วยความเร็วได้ เลี้ยวได้มุมแคบ
ยกตัวอย่าง เครนชนิดอยู่กับที่ (Stationary Cranes) ดังนี้
👉 เครนหอสูงหรือปั้นจั่นหอสูง (Tower Cranes) พื้นฐานการเคลื่อนที่ขนย้ายของได้ 6 ทิศทาง ติดตั้งรางวิ่ง (Crane Run Way) กับโครงสร้างสูงกว่าระดับพื้น เป็นเครนที่นิยมใช้ในการก่อสร้างเนื่องจากความสูงของตัวเครนและการใช้ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักได้มากสามารถทุ่นแรงงานได้จำนวนมากแต่เครนชนิดนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมากเนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุจะเป็นอันตรายอย่างมาก
👉 เครนราง (Overhead Cranes) จะมีการติดตั้งรอกไฟฟ้าไว้ที่ด้านบนระหว่างคานสองตัว เหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยกน้ำหนักที่หนัก ใช้สำหรับงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสหกรรมเคมี และโรงไฟฟ้า เป็นต้น
👉 เครนติดผนัง (Wall Cranes) เครนติดผนังยื่นแขนยก สามารถออกแบบสร้างได้ทั้งแบบคานเดี่ยว และแบบคานคู่ โดยโรงงานที่นิยมใช้ส่วนใหญ่จะทำเครนวิ่งเป็น 2 ระดับ โดยวางตำแหน่งเครนเหนือศีรษะวิ่งบนรางด้านบน และวางตำแหน่งเครนติดผนังยื่นแขนยกไว้ด้านล่าง แต่ชนิดนี้มีความเหมาะสมใช้งานยกน้ำหนักไม่หนักมาก ควรใช้งานยกน้ำหนักตั้งแต่ 1-5 ตันเท่านั้น ควรมีแขนยื่นออกมาจากรางวิ่งเพื่อยกวัตถุ ไม่เกิน 6 เมตร และควรมีความเร็วในการวิ่งยาวไม่เกิน 20 เมตร/นาที ที่สำคัญควรใช้อินเวอร์เตอร์ควบคุมการออกและหยุดตัว เพราะการวิ่งแนวยาวที่เร็วเกินไป หรือการออกและหยุดตัวอย่างรุนแรง สำหรับเครนชนิดนี้จะเป็นอันตรายสำหรับโครงสร้างเครน และเกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานได้
❝ เครนยังมีอีกหลายประเภทที่แยกออกมา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ประเภท ลักษณะต่าง ๆ ของเครน เพื่อที่จะสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้กับงานนั้น ๆ ด้วย ❞
ประโยชน์จากเครน
▸ รถเครน นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนหรืออาคารสูงต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถนำรถเครนมาประยุกต์การใช้งานในด้านต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายอีกด้วย
▸ รถเครนใช้ในงานการแสดง เครนทำการยกสูงได้หลายสิบเมตร สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานการแสดงต่าง ๆได้เป็นอย่างดี ทั้งการติดกล้องกับกระเช้าเพื่อให้ได้ภาพมุมสูง หรือใช้ในงานการแสดงที่ต้องการภาพที่มีความสมจริง
▸ รถเครนใช้ในการทำความสะอาดอาคารสูง สามารถประยุกต์ใช้กระเช้าของรถเครนมาทำความสะอาดได้ โดยเริ่มจากการยกกระเช้าของรถเครนจากมุมสูง แล้วจึงทำความสะอาดไล่ระดับลงมา
▸ รถเครนใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝัน ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ สามารถใช้รถเครนในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยขนาดความสูงของรถเครนซึ่งสามารถทำการขยายได้หลายสิบเมตร จึงสามารถช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้อย่างง่ายดาย
▸ รถเครนใช้ในแปลงการเกษตร สามารถประยุกต์การใช้งานของรถเครนในแปลงการเกษตรได้
การใช้งานเครนอย่างปลอดภัย
▸ก่อนเริ่มใช้งานทุกครั้ง ควรตรวจสอบระบบการทำงานของรอกและเครน ว่าปกติหรือไม่ ก่อนทำการยกชิ้นงาน
▸ห้ามผู้ที่ไม่รู้วิธีการใช้งาน หรือไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และรับผิดชอบโดยตรงใช้รอกและเครน
▸ไม่ควรใช้รอกและเครน เพื่อการโดยสาร
▸หยุดการใช้รอกและเครน โดยกดปุ่มสวิทซ์ฉุกเฉินทันที เมื่อเสียงดังหรือระบบการทำงานผิดปกติ
▸ไม่ควรเดินรอกหรือยกชิ้นงานข้ามศีรษะผู้อื่นโดยไม่บอกกล่าว อาจเกิดอุบัติเหตุและอันตรายได้
▸ไม่ควรเล่น แกว่งหรือโยกอย่างคึกคะนอง ขณะทำการยกชิ้นงาน
▸ห้ามทำการซ่อมแซมรอกเอง เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับรอก ควรแจ้งช่างซ่อมบำรุง หรือผู้รับผิดชอบโดยตรง
▸ไม่ควรยกหรือห้อยชิ้นงานค้างไว้ โดยไม่จำเป็น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น