ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

“เฟือง” มีกี่ประเภทและการใช้งานต่าง ๆ ที่ควรรู้

 

  • 210301-Content-ประเภทของ-เฟือง-และการนำไปใช้งาน-01

    เมื่อพูดถึงอุปกรณ์เครื่องกลที่ช่วยลดการทำงาน ช่วยผ่อนแรง ทำให้เกิดการทำงานเชิงกลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ สิ่งนั้นก็คือ ❝เฟือง (Gear) เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร หลายคนคงนึกถึงรูปแบบของเฟืองเป็นลักษณะจานแบนรูปวงกลม เป็นอุปกรณ์ที่มีความแข็งแรงสูงและปลอดภัย ซึ่งเฟืองมีหลากหลายประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทลักษณะเป็นแบบไหนและใช้งานแบบไหนบ้าง?

    วันนี้ KACHA จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเฟืองให้มากขึ้นกันดีกว่า . . .


    เฟืองคืออะไร?

    เป็นชิ้นส่วนเครื่องกลมีรูปร่างเป็นจานแบนรูปวงกลม ตรงขอบมีลักษณะเป็นแฉก เรียกว่าฟันเฟือง ซึ่งสามารถนำไปประกบกับเฟืองอีกตัวหนึ่ง เมื่อเฟืองตัวแรกหมุน เฟืองตัวที่สองจะหมุนในทิศทางตรงกันข้าม เกิดเป็นระบบส่งกำลังขึ้น โดยความเร็วรอบของเฟืองที่สองจะขึ้นกับอัตราส่วนจำนวนฟันเฟืองของตัวแรกเทียบกับตัวที่สอง ซึ่งอัตราส่วนนี้สามารถปรับให้เกิดเป็นความได้เปรียบเชิงกลได้

    210301-Content-ประเภทของ-เฟือง-และการนำไปใช้งาน-02


    ด้วยคุณลักษณะนี้ จึงทำให้เฟืองสามารถนำมาใช้ส่งผ่านแรงหมุน ปรับความเร็วแรงหมุนและทิศทางการหมุนในเครื่องจักรได้ โดยระบบเฟืองหรือระบบส่งกำลังนี้ มีความสามารถคล้ายคลึงกับระบบสายพาน แต่ดีกว่าตรงที่ระบบเฟืองจะไม่สูญเสียพลังงานไปกับการยืดหดและการลื่นไถลของสายพานนั่นเอง


    เฟืองมีกี่ประเภท?

    เราสามารถแบ่งเฟืองที่ใช้ในอุตสาหกรรมนั้น ได้เป็น 8 ประเภท ดังนี้

    1. เฟืองเกลียวสกรู (Spiral Gears)
    นิยมใช้ในระบบเฟืองส่งกำลังของรถยนต์หรือเครื่องจักรที่ต้องการเปลี่ยนมุมในการส่งกำลัง เป็นเฟืองเกลียวที่ใช้ส่งกำลังระหว่างเพลาที่ทำมุมกัน 90 องศา การใช้งานเฟืองชนิดนี้ส่วนมากจะใช้ในการเปลี่ยนทิศทางในการส่งกำลังของเพลา เฟืองเกลียวสกรูจะถูกนำไปใช้กับชุดเฟืองที่มีการทดรอบมาก การสึกหรอจะเกิดขึ้นค่อนข้างมากเนื่องจากลักษณะการเคลื่อนที่ส่งกำลังของเฟืองจะมีลักษณะในการลื่นไถล (Sliding Contact) ระหว่างผิวของฟันเฟืองคู่ที่ใช้ส่งกำลัง ไม่เหมาะที่จะใช้กับระบบส่งกำลังที่มีกำลังมาก ๆ

    210301-Content-ประเภทของ-เฟือง-และการนำไปใช้งาน-03


    2. 
    เฟืองตัวหนอน (
    Worm Gears)
    เฟืองตัวหนอนประกอบด้วย 2 ชิ้นส่วนคือ ล้อตัวหนอน (Worm Wheel) และตัวเฟือง (Worm Gear) เป็นเฟืองที่มีการทำงานแบบ Self-locking คือ ทำงานในรูปแบบการหมุน แนวเพลาขับและเพลาตามของเฟืองตัวหนอนจะทำมุมกันที่มุมฉาก 90 องศา เฟืองตัวหนอนทำงานเสียงเงียบและมีแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นน้อย

    • ข้อดี คือสามารถใช้กับอัตราการทดเฟืองที่มากขึ้นและเสียงในการทำงานเงียบ
    • ข้อเสีย คือการสูญเสียพลังงานที่สูงและเกิดแรงกระทำบนตัวหนอนที่สูงไม่แพ้กัน


    3. เฟืองดอกจอก (
    Bevel Gears)
    มักถูกนำไปใช้งานในยานพาหนะทั้งทางบกและทางน้ำ เช่น ยานยนต์โดยเฉพาะในระบบส่งกำลังและขับเคลื่อน รถแทรกเตอร์ ใช้ในระบบเฟืองส่งกำลังของเรือ เป็นต้น ลักษณะของเฟืองดอกจอกจะมีรูปทรงคล้ายกับกรวย เป็นเฟืองสองตัวที่ขบกัน ใช้สำหรับส่งกำลังจากเพลาหนึ่งไปยังอีกเพลาหนึ่ง มุมระหว่างเพลาทำมุมกันที่ 90 องศา

    • ข้อดี คือเหมาะกับการใช้ในอัตราทดของเฟืองที่มีมาก ๆ ประสิทธิภาพในการใช้งานและการส่งถ่ายกำลังสูง เสียงเงียบ และเฟืองแบบเฉียงถูกออกแบบให้อัตราการทดมีมากกว่า จึงแข็งแรงและทนทานมากกว่าเฟืองดอกจอกแบบตรง
    • ข้อเสีย คือเฟืองดอกจอกแบบเฉียงจะประกอบยาก เมื่อเวลาทำงานจริงแล้วต้องการปรับเปลี่ยนมุมก็ยิ่งยากและเพลาทำงานหนักจากการกระแทกสูง จึงต้องเลือกตลับลูกปืน ที่มีความทนทานสูงเช่นกัน


    4. เฟืองเฉียง (
    Helical Gears)
    มีลักษณะคล้ายเฟืองตรง แต่ลักษณะแนวของฟันเฟืองจะไม่ขนานกับเพลาแต่จะทำมุมเฉียง โดยอาจะเอียงไปด้านซ้ายหรือด้านขวาขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานหรือการออกแบบของผู้ผลิต ในการใช้งานเฟืองเฉียงจะใช้เป็นคู่ ฟันเฟืองหนึ่งจะเอียงไปทางซ้ายและอีกฟันเฟืองหนึ่งจะเอียงไปทางขวาในมุมที่เท่ากัน จุดเด่นของเฟืองเฉียงคือสามารถรับ Load ได้มากกว่าเฟืองตรงที่มีขนาดเท่ากัน การที่ฟันเฟืองมีลักษณะเอียงจึงทำให้ความยาวของฟันเฟืองยาวกว่าและพื้นที่หน้าสัมผัสของฟันมีมากกว่าเฟืองตรง เสียงในขณะทำงานของเฟืองเฉียงจะเงียบกว่าเฟืองตรง เนื่องจากการขบกันของเฟืองจะกระทำอย่างนิ่มนวลกว่า เพราะมุมที่เฉียงของฟันเฟืองทำให้เกิดการเหลื่อม (Overlap) กันของฟันเฟืองขณะหมุน

    • ข้อดี คือการทำงานเงียบ เสียงน้อย ทำงานอย่างราบลื่นและต่อเนื่อง
    • ข้อเสีย คือประสิทธิภาพในการทำงานค่อนข้างต่ำ การสูญเสียพลังงานมีสูงเกิดจากการลื่นไถลที่มากขึ้น


    5. เฟืองเฉียงก้างปลา (
    Herringbone Gears)
    เฟืองก้างปลาถูกพัฒนามาจากเฟืองเฉียง มีลักษณะของฟันเฟืองที่เฉียงเข้าหากันในมุมที่เท่ากัน ทำให้ช่วยลดแรงรุน (Trust) ด้านข้างขณะทำงานได้ซึ่งแรงรุนจะมีค่าเท่ากับศูนย์ เฟืองก้างปลาขณะทำงานจะมีเสียงเงียบ สามารถรับ Load ได้มากกว่าเฟืองตรง ขณะทำงานเกิดแรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าเฟืองตรง ข้อดีของเฟืองชนิดก้างปลาคือ เฟืองจะเลื่อนออกจากกันไม่ได้


    6. เฟืองวงแหวน (
    Internal Gears)
    จะมีลักษณะคล้ายเฟืองตรงคือมีลักษณะเป็นวงกลมแต่ฟันเฟืองจะอยู่ด้านในของวงกลม มีเฟืองคู่กันขนาดเล็กกว่าขบกันอยู่ด้านใน โดยปกติของเฟืองวงแหวนแล้วเฟืองตัวเล็ก (Pinion Gear) ที่อยู่ด้านในจะทำหน้าที่เป็นตัวขับ เช่น เป็นเฟืองสำหรับปั๊มน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์ โดยที่เฟืองตัวเล็กที่อยู่ภายในเป็นตัวขับส่วนตัวใหญ่จะหมุนในลักษณะการเยื้องศูนย์เพื่อดูดน้ำมันเครื่องส่งไปใช้งาน


    7. เฟืองสะพาน (
    Rack Gears)
    ในหนึ่งชุดของเฟืองสะพานจะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเฟืองขับลักษณะเป็นวงกลม และ ส่วนที่เป็นเฟืองสะพานมีลักษณะเป็นแท่งยาวตรง โดยฟันเฟืองทั้ง 2 ส่วนวางขบกันอยู่ การทำงานของเฟืองสะพานคือ จะใช้ในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ จากการเคลื่อนที่แบบหมุนหรือเชิงมุมให้เป็นการเคลื่อนที่แบบเส้นตรงหรือแบบกลับไปกลับมา เฟืองสะพานถูกนำไปใช้งานในการส่งถ่ายกำลังในเครื่องจักรกล การส่งถ่ายกำลังในระบบบังคับเลี้ยวของรถยนต์ ใช้กับเครื่องพิมพ์หรือเครื่อง Plot ขนาดใหญ่ หรือใช้ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ใช้ในเครื่องกลึงยันศูนย์ที่ช่วยให้แท่นเลื่อนเคลื่อนที่ ซ้าย-ขวา หรือใช้ในเครื่องเจาะเพื่อเคลื่อนเพลาเครื่องเจาะให้ขึ้น-ลงได้นั่นเอง

    • ข้อดี คือเมื่อใช้งานร่วมกับเฟืองตรงหรือเฟืองแบบตัวเล็ก ก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่แบบเชิงเส้นได้ทันที และมีการติดตั้งรูมาเป็นจำนวนมากและจัดเรียงกันมา จึงทำให้เลือกใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะรูด้านข้าง ด้านใน หรือรูเจาะคว้าน ที่เป็นไปตามการใช้งานแต่ละแบบ
    • ข้อเสีย คือเฟืองจะไม่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ และจะต้องไปจบที่ปลายสะพานอยู่ตลอดอีกด้วย
    210301-Content-ประเภทของ-เฟือง-และการนำไปใช้งาน-06


    8. เฟืองตรง (
    Spur Gears)
    เป็นเฟืองที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่าย มีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงและง่ายในการประกอบ ไม่มีแรงรุน (Trust) ที่เกิดขึ้นในแนวแกน (No Axial Force) ในขณะที่ทำงาน และหน้ากว้างของเฟืองตรงสามารถเพิ่มได้เพื่อให้เกิดผิวสัมผัสที่มากขึ้น จะช่วยลดการสึกหรอให้น้อยลงได้ เฟืองตรงเป็นเฟืองที่มีโครงสร้างง่ายไม่สลับซับซ้อน มีลักษณะเฉพาะคือฟันของเฟืองจะเป็นแนวขนานไปกับรูเพลา มักถูกนำมาใช้ในระบบส่งกำลัง

    • ข้อดี คือประสิทธิภาพในการใช้งานสูง ประกอบง่าย ซี่ฟันจัดวางในแนวนอนก็พร้อมใช้งาน และสูญเสียพลังงานต่ำเพราะแรงลื่นไถลมีน้อย
    • ข้อเสีย คือเวลาใช้งานแล้วรอบเริ่มเร็วจะเสียงดังมาก ใช้งานแบบคู่ขนานได้เท่านั้น และความแข็งแรงก็ค่อนข้างน้อยกว่าเฟืองชนิดอื่น


    🤔 วิธีการผลิตเฟืองเป็นแบบไหนกัน?

    การผลิตเฟืองมีกรรมวิธีในการผลิตที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การปั๊มขึ้นรูป การทำโมลด์พลาสติก การหล่อ การตัดเลเซอร์และการแปรรูปด้วยเครื่องจักร เป็นต้น ซึ่งการที่ผู้ผลิตจะผลิตเฟืองเพื่อใช้ในด้านอุตสาหกรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงชนิดของเฟือง จำนวนที่ผลิตและต้นทุนที่ใช้ในการผลิตเฟือง เพื่อให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่าและประหยัดมากที่สุด

    ในปัจจุบันมีวัสดุที่ใช้ในการผลิตเฟืองมีหลากหลายชนิด หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการใช้งาน วิศวกรที่เป็นผู้ออกแบบเฟืองสามารถเลือกใช้วัสดุได้หลากหลาย เช่น อะลูมิเนียม, ไม้, พลาสติก, ไททาเนียม, แมกนีเซียม, ทองแดง, ทองเหลือง, เหล็กหล่อ, เหล็กเหนียว รวมไปถึงการนำวัสดุต่าง ๆ มาผสมกันเพื่อผลิตเฟืองได้

    องค์ประกอบนการเลือกวัสดุเพื่อผลิตเฟืองมีดังนี้

    • ค่าใช้จ่ายในการผลิต
    • น้ำหนัก
    • ความต้านทานในการสึกหรอ
    • ความต้านทางต่อการกัดกร่อน
    • ความต้านทางต่อแรงกระแทก
    • ความสามารถในการโก่งงอ
    • ความทนต่อความถี่ของความเค้น


    👉 การหล่อลื่นอุณหภูมิในการทำงานและความเร็วในการหมุน เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของกระบวนการผลิตและวัสดุที่ใช้ เช่น มีการปรับเปลี่ยนสภาพผิวของเฟืองเพื่อเพิ่มความทนทาน เนื่องจากการทำงานในที่ที่มีอุณหภูมิสูงจำเป็นต้องมีการใช้วัสดุในการผลิตเฟืองที่มีความทนทานมากกว่าการทำงานในอุณหภูมิปกติ


    จะเห็นได้ว่าเฟืองแต่ละชนิดมีการทำงานและมีความแตกต่างกันอยู่ ดังนั้นควรศึกษาให้ดีเพื่อนำไปเลือกใช้งานตามความเหมาะสม หวังว่าบทความนี้จะทำให้หลาย ๆ คนได้เข้าใจถึงความหมายของเฟืองกันมากขึ้นด้วย 🥰

    >>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<< 


    ที่มา : Kacha

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    ฝ้าทีบาร์ คืออะไร ข้อควรรู้ก่อนนำไปใช้งาน

    บ่อเกรอะ บ่อซึม มีลักษณะเป็นอย่างไร?