Checklist! ‘5 เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน’ ที่ขาดไม่ได้ พร้อมเคล็ดลับการเลือกซื้อ

 ซื้อบ้านหรือห้องชุดในคอนโดมิเนียมมาแล้วเรียบร้อย หรือว่ากำลังก่อสร้างบ้านใกล้เสร็จเรียบร้อยเต็มที แต่ยังไม่รู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นไหนที่จำเป็นต้องซื้อก่อนอย่างอื่น ไม่ค่อยพอใจเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทางโครงการให้มา ชิ้นไหนกันที่ควรจะเลือกเปลี่ยนเพราะเป็นสิ่งสำคัญของบ้าน หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านชำรุดทรุดโทรม ไม่รู้ว่าต้องเลือกใหม่อย่างไร วันนี้ Sge เรามีคำตอบให้




1. แอร์
หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือเครื่องปรับอากาศ ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การที่ที่อยู่อาศัยไม่มีแอร์ติดตั้งถือเป็นเรื่องทรมานกาย ทำให้การอยู่อาศัยอาจไม่ค่อยสบายนัก แม้ว่าแอร์จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากและหลายคนเลือกที่จะไม่ใช้แอร์เป็นประจำ แต่ก็ควรมีติดตั้งไว้เผื่อใช้งานในวันที่อากาศร้อนจัดหรือว่ามีแขกมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน

เพื่อไม่ให้แอร์ที่ติดตั้งใหญ่เกินความจำเป็นซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน หรือเล็กกว่าที่สมควรจนเกิดอาการ ‘แอร์ไม่เย็น’ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างแรกคือ บีทียู ที่ต้องเหมาะกับขนาดพื้นที่ห้องที่แอร์จะถูกติดตั้ง ยกตัวอย่างเช่น ห้องขนาด 9-14 ตร.ม. ควรใช้แอร์ขนาด 9,000 บีทียู, ห้องขนาด 14-20 ตร.ม. ควรใช้แอร์ขนาด 12,000 บีทียู, ห้องขนาด 20-28 ตร.ม. ควรใช้แอร์ขนาด 18,000 บีทียู เป็นต้น แต่ทั้งนี้ถ้าเป็นห้องที่ถูกแสงแดดมากหรือมีหน้าต่างใหญ่/มีจำนวนมาก ก็จะต้องเพิ่มบีทียูของแอร์ขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ควรจะเลือกแอร์แบบอินเวอร์เตอร์ เนื่องจากมีระบบที่ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าแอร์ทั่วไป 40-60% และทำให้ความเย็นในห้องคงที่สม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าแอร์อินเวอร์เตอร์จะราคาสูงสักหน่อย แต่เทียบกับค่าไฟที่ลดลงแล้วจะคุ้มค่ากว่าในระยะยาว



2. พัดลม
อย่างที่กล่าวข้างต้น หลายคนเลือกที่จะไม่เปิดแอร์ในวันที่อากาศเย็นสบาย เช่น วันฝนตก แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีพัดลมเป็นตัวช่วยหมุนเวียนอากาศภายในห้อง เพื่อให้อากาศถ่ายเทและใช้ชีวิตได้สบายตัวมากกว่าแค่เปิดหน้าต่าง

วิธีการเลือกซื้อพัดลมนั้นยุ่งยากน้อยกว่าแอร์ พัดลมจำแนกได้ 3 ประเภทหลักๆ โดยเรียงจากที่ใช้ไฟน้อยไปจนถึงมาก คือ พัดลมตั้งโต๊ะ>พัดลมตั้งพื้น>พัดลมเพดาน พัดลมตั้งโต๊ะจะเหมาะกับการใช้งานที่มีคนร่วมใช้จำนวนไม่มากประมาณ 1-2 คนเท่านั้น แต่ถ้ามีการใช้งานในห้องที่มีคนจำนวนมากหรือห้องขนาดใหญ่ก็ควรจะเลือกพัดลมตั้งพื้น ส่วนพัดลมเพดานก็ยิ่งต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และจำเป็นต้องเก็บเนื้อที่สำหรับวางพัดลมไว้ใช้สอยอย่างอื่น ทำให้ต้องติดพัดลมไว้บนเพดาน

และอย่าลืมว่าควรเลือกพัดลมที่ได้รับการรับรองจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ด้วย เพื่อความปลอดภัยและการประหยัดไฟตามลำดับ



3. พัดลมระบายอากาศ
หรือเรียกอีกอย่างว่า พัดลมดูดอากาศ 2 จุดที่สำคัญในบ้านที่ควรจะมีพัดลมระบายอากาศคือห้องน้ำและครัว เพราะห้องน้ำมักจะเป็นพื้นที่อับ ไม่มีหน้าต่างหรือมีแต่ขนาดเล็กมาก การระบายอากาศจะทำได้ไม่ดี จึงต้องมีตัวช่วยคือพัดลมดูดอากาศเพื่อให้ห้องน้ำลดกลิ่นอับลง

ส่วนห้องครัว หากเป็นครัวที่สามารถเปิดประตู-หน้าต่างถ่ายเทอากาศได้ดีก็อาจไม่จำเป็น แต่ถ้าเป็นครัวในห้องปิดที่ระบายอากาศยากก็อาจต้องใช้พัดลมระบายอากาศช่วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้กลิ่นจากการทำครัวซึมติดเข้าไปในเฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน และสิ่งของภายในบ้าน นอกจากนี้ห้องอื่นๆ ในบ้านที่อากาศไม่ถ่ายเทก็สมควรติดตั้งไว้เช่นกัน
พัดลมดูดอากาศมี 2 แบบใหญ่ๆ คือแบบติดผนังปูนกับติดกระจก จึงต้องพิจารณาพื้นที่ที่เราจะติดตั้งก่อนว่าต้องใช้พัดลมดูดอากาศแบบใด ส่วนขนาดพัดลมสามารถนำขนาดห้อง กว้างxยาวxสูง ปรึกษาพนักงานขายดูได้



4. ปั๊มน้ำ
ปั๊มน้ำ หากเป็นคอนโดมิเนียม ทางโครงการมักจะติดตั้งมาไว้แล้วสำหรับใช้ร่วมกันทั้งโครงการ แต่สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบ ปั๊มน้ำก็จะเป็นของบ้านแต่ละหลัง

สำหรับความสำคัญของปั๊มน้ำคือ ถ้าเราไม่มีปั๊มน้ำแล้วมีการเปิดใช้น้ำหลายจุดในบ้านพร้อมๆ กัน จะเกิดการแย่งน้ำกันใช้ทำให้น้ำไหลเอื่อยเพราะแรงดันของน้ำจากท่อน้ำประปาหลักที่ส่งเข้ามาในบ้านยังเท่าเดิม ดังนั้น บ้านจึงควรจะติดตั้งปั๊มน้ำ(ต้องใช้งานร่วมกับถังเก็บน้ำ) เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำเมื่อมีการใช้งานพร้อมกันหลายจุด

โดยปั๊มน้ำแต่ละยี่ห้อก็จะมีตารางในการเลือกรุ่นและขนาดมอเตอร์ของปั๊มน้ำให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งเจ้าของบ้านต้องเตรียมข้อมูลเหล่านี้เพื่อไปปรึกษากับพนักงานขายคือ ความสูงของบ้าน(กี่ชั้น), จำนวนจุดที่เปิดใช้น้ำได้และคาดว่าจะใช้พร้อมกันสูงสุดกี่จุด, ปริมาณน้ำลิตร/นาทีของก๊อกน้ำในบ้าน


5. ตู้เย็น
อีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็น ของสด อาหารที่ต้องเก็บในที่เย็น น้ำแข็ง เครื่องดื่ม ฯลฯ ล้วนต้องการตู้เย็นเป็นที่จัดเก็บ การไม่มีตู้เย็นไว้ในบ้านอาจจะทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น

พื้นฐานของการเลือกตู้เย็นตั้งต้นจากจำนวนคนในบ้าน กะอย่างคร่าวๆ คือ มีสมาชิก 1-2 คนใช้ขนาดไม่เกิน 6 คิว, 2-3 คนใช้ขนาด 6-10 คิว, 4-5 คนใช้ขนาด 10-15 คิว และ 6 คนขึ้นไปใช้ขนาด 15 คิวขึ้นไป แต่ถ้าบ้านไหนชอบทำอาหารทำให้มีการซื้อของสดจำนวนมาก หรือชอบเก็บอาหารแช่แข็งก็อาจจะต้องเพิ่มขนาดคิวของตู้เย็นอีกเล็กน้อย

เมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมแล้ว สิ่งต่อไปที่ควรมองหาคือฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ตามด้วยข้อมูลการรับประกันที่ดี แล้วจึงเจาะลงไปในรายละเอียดตัวเลือกตู้เย็นที่ยังอยู่ในมือเรา จำพวกวัสดุและฟังก์ชันภายในตู้เย็น และส่วนประกอบอื่นๆ ที่อาจจะชื่นชอบเป็นพิเศษ เช่น มีช่องกดน้ำและน้ำแข็ง เป็นต้น เพื่อคัดเลือกหาตู้เย็นที่ตรงใจมากที่สุด


สำหรับใครที่มองหาอุปกรณ์ช่าง สำหรับ มาทำบ้านเอง Kacha ของเรามีอุปกรณ์ช่าง จำหน่ายมากมาย ท่านที่สนใจ คลิกที่นี่ https://www.kachathailand.com/product/chain-hoist-cbe/ มีทั้ง รอกโซ่ รถกระเช้า เครนยกของ และ อื่นๆอีกมากมาย 


ที่มา ddproperty

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ฝ้าทีบาร์ คืออะไร ข้อควรรู้ก่อนนำไปใช้งาน

บ่อเกรอะ บ่อซึม มีลักษณะเป็นอย่างไร?

“เฟือง” มีกี่ประเภทและการใช้งานต่าง ๆ ที่ควรรู้