“เสา” คืออะไร? มีกี่ประเภทกันนะ?
เมื่อพูดถึง “เสา (Column)” เสาบ้าน ถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากของตัวบ้าน มีหน้าที่รับน้ำหนักของตัวบ้าน ทั้งส่วนที่เป็นพื้นชั้นล่าง ชั้นบน ผนัง และหลังคา โดยโครงสร้างของเสาต้องมีความมั่นคง และแข็งแรง ที่จะทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักทั้งหมดได้ ยิ่งถ้าบ้านมีหลายชั้น การออกแบบเสาของบ้านยิ่งมีความสำคัญมาก โดยเสานั้นจะมีให้เลือกใช้หลายประเภท จะมีเสาแบบไหนบ้าง ตาม KACHA ไปดูกันเลย
เสา คืออะไร?
เสาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ มีความสําคัญอย่างมาก เนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักของอาคารทั้งหลัง เมื่อเสาเกิดการวิบัติหรือพังทลาย อาจส่งผลให้โครงสร้างทั้งหลังพังถล่มลงมาได้ ดังนั้น จึงจําเป็นต้องมีการเสริมความแข็งแรง และความเหนียวให้แก่เสาเพื่อให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวที่ จะเกิดขึ้นในที่นี้จะกล่าวถึงการเสริมเหล็กในเสาอาคารที่ ยังไม่ได้ก่อสร้างและที่ก่อสร้างไปแล้ว โดยหลักการที่คล้าย ๆ กัน คือเพิ่มกําลังรับแรง และความเหนียวให้แก่เสา
เสาอาคารที่ก่อสร้างในประเทศไทย หรือประเทศที่แผ่นดินไหวเป็นภัยที่ไม่เด่นชัด เสามักจะมีขนาดเล็ก ใส่เหล็กเสริมน้อย เเนื่องจากการออกแบบที่ไม่ได้คํานึงถึงแรงแผ่นดินไหว ดังนั้น เมื่อมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น เสาเหล่านี้ จะมีการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนอาจทําให้เสาขาด หรือเกิดการพังทลายได้ ลักษณะการพังทลายในเสา ได้แก่ การเกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ในเสา คอนกรีตกะเทาะหลุดออกมาเหล็กเสริมดุ้ง หรือขาด ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เสา มักเกิดขึ้นที่บริเวณโคนเสา หรือหัวเสา นั่นเอง
ประเภทของเสา
เราสามารถแบ่งประเภทของเสา ได้ดังนี้
- เสาไม้ ถ้าเป็นบ้านเรือนสมัยเก่า เสาส่วนใหญ่จะเป็นเสาไม้ ซึ่งจะเลือกใช้ไม้แข็ง เช่น ไม้ตะเคียน, ไม้ชิงชัน, ไม้เต็ง, ไม้มะม่วง หรือจะเป็นไม้เนื้อแกร่ง พวก ไม้ประดู่, ไม้แดง, ไม้เกลือ เป็นต้น
ข้อดีของเสาไม้ คือ ถ้าต้องการบ้านไม้ให้มีความสวยงามแบบธรรมชาติ งานไม้จะสวยงามจากลายไม้ กว่าเสาประเภทอื่น แต่ก็ต้องระวังเรื่องปลวกที่อาจจะมีปัญหาภายหลังได้ รวมทั้งในปัจจุบันไม้ที่จะทำเป็นเสาได้ต้องมีขนาดใหญ่ อาจจะมีขนาดที่ประมาณเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว มีน้ำหนักมาก ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างแพง และขนย้ายยาก
- เสาปูน หรือ เสาคอนกรีต ซึ่งจะทำมาจากคอนกรีตเหล็กเสริม เพื่อเพิ่มกำลังที่จะสามารถรับแรงอัด แรงดัด และแรงดึงได้มากยิ่งขึ้น โดยปกตินั้นตัวคอนกรีตจะใช้รับแรงอัด ส่วนเหล็กจะรับแรงดัด หรือแรงดึงนั่นเองโดยเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภท คือ เป็นแบบเสาคอนกรีตหล่อในที่กับเสาคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป จะมีความแตกต่างในเรื่องวิธีการก่อสร้าง การรับน้ำหนัก ตามโครงสร้างของแต่ละประเภท นอกจากนั้น ยังมีเสาเหล็กผสมคอนกรีต โดยจะเป็นเสาที่ใช้เหล็กรูปพรรณ แล้วเทคอนกรีตหุ้มทับ ซึ่งก็จะมีหลายรูปแบบอีกเหมือนกัน แบ่งได้เป็น เสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก, เสาเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต, เสาคอนกรีตหุ้มด้วยท่อเหล็ก เสาประเภทเหล็กผสมคอนกรีตนั้น จะทำให้ตัวเสารับน้ำหนักได้มากขึ้น รวมทั้งทนไฟได้มากขึ้นด้วย
ลักษณะของเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- แบ่งตามลักษณะของแรงที่มากระทำ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
- เสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่รับแรงตามแนวศูนย์กลางแกนเสา
- เสาคอนกรีตเสริมเหล็กที่รับแรงเยื้องศูนย์
- แบ่งตามขนาดความสูงของเสา สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
- เสาสั้น คือ เสาที่มีอัตราส่วนความสูงต่อด้านแคบของเสา (เสาสี่เหลี่ยม) หรืออัตราส่วนความสูงต่อเส้นผ่านศูนย์กลางเสา (เสากลม) น้อยกว่า 15
- เสายาว คือ เสาที่มีอัตราส่วนความสูงต่อด้านแคบของเสา (เสาสี่เหลี่ยม) หรือ อัตราส่วนความสูงต่อเส้นผ่าศูนย์กลางเสา (เสากลม) มากกว่า 15 ซึ่งความสามารถในการรับน้ำหนักของเสาจะลดลง
เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. เสาปลอกเดี่ยว เป็นเสาคอนกรีตที่เสริมเหล็ก โดยมีเหล็กยืน (ตั้งในแนวดิ่ง) รัดด้วยเหล็กปลอกเป็นวง ๆ ซึ่งเหล็กปลอกที่รัดอาจจะมีวงเดียว หรือหลายวงก็ได้ และการงอเหล็กปลอกจะงอเป็นฉาก |
2. เสาปลอกเกลียว เป็นเสาคอนกรีตที่เสริมเหล็ก โดยมีเหล็กยืน (ตั้งในแนวดิ่ง) รัดด้วยเหล็กปลอกที่เป็นเกลียวรัดต่อเนื่อง เสาประเภทนี้ จะรับแรงได้ดีกว่าเสาปลอกเดี่ยวประมาณ 15% โดยปกติจะใช้กับเสากลม หรือเสาหลายเหลี่ยม |
3. เสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก จะมีลักษณะเหมือนกับเสาปลอกเกลียวธรรมดา แต่จะมีเหล็กรูปพรรณเสริมอยู่ตรงแกนกลาง ส่วนใหญ่ใช้เหล็กรูปตัวไอ (I) หรือเหล็กรูปตัวเฮช (H) พื้นที่หน้าตัดของแกนเหล็ก เมื่อเทียบกับพื้นที่หน้าตัดคอนกรีตจะไม่มากนัก โดยทั่วไปนิยมใช้กับเสาที่มีแป้นหูช้าง หรือใช้เมื่อต้องการลดขนาดเสาให้เข้ากับแบบสถาปัตยกรรม |
4. เสาเหล็กหุ้มด้วยคอนกรีต คล้ายกับเสาปลอกเกลียวเสริมแกนเหล็ก แต่เหล็กที่ใช้ตรงแกน นิยมใช้เหล็กแผ่นหนา ๆ นำมาตัดเชื่อม หรือย้ำหมุดให้ได้รูปหน้าตัดเป็นตัว H ขนาดใหญ่ และหุ้มด้วยตะแกรงเหล็กเบอร์ 10 AS&W Gage และมีคอนกรีตหุ้มไม่น้อยกว่า 6 ซม. เสาชนิดนี้นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการให้เสามีขนาดเล็ก แต่รับน้ำหนักได้มาก |
5. เสาคอนกรีตหุ้มด้วยท่อเหล็ก เป็นเสาที่มีเปลือกนอกเป็นเหล็ก ภายในเป็นคอนกรีต จะไม่มีการเสริมเหล็กเพิ่มภายใน เสาประเภทนี้จะรับน้ำหนักไม่มาก และตรงปลายเสาต้องใช้แผ่นเหล็กหนา 3/8 นิ้ว หรือประมาณ 10 มม. เชื่อมติดท่อเหล็ก เพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนัก |
- เสาเหล็ก จะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ เสาเหล็กรูปพรรณ กับเสาโครงข้อแข็ง โดยเสาที่นิยมใช้มาสร้างบ้านจะเป็นเสาเหล็กรูปพรรณ โดยจะใช้เสาเหล็กที่เป็นเหล็กรูปตัวไอ (I), เหล็กรูปตัวเฮช (H) หรือเหล็กกล่อง (Tube)
ข้อดีของเสาเหล็ก คือ สามารถสร้างเสร็จในระยะที่ค่อนข้างจะเร็ว ส่วนข้อเสียของเสาสเหล็ก คือ ทนความร้อนได้ไม่ค่อยดีมากเท่าไร
❝ จะเห็นได้ว่าประเภทของเสามีหลายประเภทมาก เจ้าของบ้านอาจจะมีความสับสนว่าจะเลือกใช้เสาประเภทไหนดี ทางที่ดีที่สุดควรจะปรึกษาผู้เชียวชาญอย่างวิศวกรที่ดูแลโครงสร้างของบ้าน เพราะการสร้างโครงสร้างเสานั้น ต้องมีการคำนวณการรับน้ำหนักของตัวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้น การจะเลือกใช้วัสดุในรูปแบบใด เพื่อที่จะรับน้ำหนักทั้งหมดต้องถูกคำนวณมาอย่างดี และมั่นใจว่ามีความแข็งแรง และทนทานจริง ๆ ❞
>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<
ที่มา : Kacha
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น