ตะไบ แต่ละประเภทใช้งานแบบไหนกัน?
ตะไบ (files) คือ เครื่องมือที่ทำมาจากเหล็กกล้าคาร์บอนสูง ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการขัดแต่งผิว หรือปาดหน้าชิ้นงานที่ต้องการขจัดเนื้อโลหะทิ้งไปไม่มากนัก ดังนั้นการตะไบ หมายถึง การตัดเฉือนผิววัสดุงานออกในลักษณะการถาก หรือขูดเพื่อลดขนาดของชิ้นงาน หรือเพื่อปรับแต่งชิ้นงานให้เรียบร้อยตามความต้องการ ในบทความนี KACHA ขอพาไปทำความรู้จักตะไบกันสักหน่อยดีกว่า
ตะไบ เป็นเครื่องมือช่างพื้นฐานที่ทำจากเครื่องมือ (Tool Steel) โดยการนำไปขึ้นรูปแล้วนำไปชุบแข็ง (Hardening) ที่ผิวหน้าของตะไบจะมีคมตัดที่เรียกว่า ฟันตะไบ โดยที่ฟันตะไบเหล่านี้จะเรียงเป็นแถวขนานกันไปตลอดความยาวก้านของตะไบ และแถวของตะไบนี้จะทำมุมเอียงกับขอบตะไบด้วย |
ส่วนประกอบของตะไบ
ตะไบประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้
- หน้าตะไบ (Face) เป็นพื้นผิวที่จะถูกเครื่องจักรกลขึ้นรูป ให้มีคมตัดของตะไบเรียงเป็นแถวซ้อนกันไปตลอดความยาวของหน้าตะไบ
- ขอบตะไบ (Edge) เป็นความหนาของตะไบ ที่ขอบของตะไบจะมี 2 ชนิด
ขอบข้างเรียบ ใช้สำหรับตะไบงานที่ไม่ต้องการให้บอบข้างของตะไบตัดเฉือนเกินเนื้องานขณะที่ปฏิบัติงานตะไบ |
ขอบข้างมีคม โดยจะมีลักษณะเป็นฟันหยาบ ๆ ใช้สำหรับขูดผิวงาน เพื่อขูดสนิม หรือสิ่งสกปรกที่ผิวหน้างานก่อนลงมือปฏิบัติงาน |
- ปลายตะไบ (Tip) เป็นส่วนที่อยู่ปลายสุดของตะไบ สำหรับใช้มือข้างที่ไม่ถนัดประคอง หรือออกแรงกดเพื่อให้คมตะไบกินเนื้อวัสดุงานมาก – น้อย ตามต้องการ
- โคนตะไบ (Heel) เป็นส่วนที่พิมพ์สัญลักษณ์ยี่ห้อตะไบ และแหล่งที่ผลิต อยู่ส่วนปลายด้านล่างของผิวหน้าตะไบติดกับกั่นตะไบ บริเวณโคนตะไบ จะไม่มีฟันตะไบอยู่
- กั่นตะไบ (Tang) มีลักษณะเป็นปลายแหลม กั่นตะไบจะถูกยึดอยู่ภายในด้ามตะไบขนาดใช้งาน
- ด้ามตะไบ (Handle) อาจเป็นด้ามไม้ หรือพลาสติกสวมเข้ากับกั่นตะไบ เพื่อให้มือจับประคอง ในการปฏิบัติงานด้ามตะไบที่ดี ควรมีลักษณะกลมมน ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้นานโดยไม่รู้สึกเจ็บมือ
ลักษณะของฟันตะไบ
ลักษณะของฟันตะไบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
- ลักษณะคมตัดเดี่ยว (Single Cut) จะเป็นลักษณะร่องฟันมีแถวเดียว ซึ่งจะทำมุมกับแนวยาวของหน้าตะไบ
- ลักษณะคมตัดคู่ (Double Cut) จะแตกต่างกับลักษณะแรกตรงที่ร่องฟันจะตัดกัน ปลายคมตัดจะมียอดแหลมสามารถตัดเฉือนวัสดุได้ดีกว่า
- ลักษณะคมตัดเป็นรูปโค้ง (Curved Cut) ลักษณะของฟันชนิดนี้จะเป็นรูปโค้งมีระยะห่างระหว่างฟันมาก เวลาใช้งานเศษวัสดุจะไม่ติดร่องฟัน ใช้ทำงานตกแต่ง ด้วยวัสดุมีลักษณะโค้งนูน จึงสะดวกกว่าแบบอื่นมาก
- คมตัดหยาบ (Rasp Cut) ฟันเป็นยอดแหลมคล้ายบุ้ง เหมาะสำหรับขัดแต่งวัสดุอ่อนอย่าง อะลูมิเนียม ฯลฯ
นอกจากลักษณะของฟันตะไบที่แบ่งออกเป็น 3 แบบแล้ว ยังสามารถแบ่งความหยาบละเอียด หรือระยะห่างระหว่างแถวของฟันตะไบออกได้อีก 6 แบบ คือ
- หยาบมาก (Rough)
- หยาบ (Coarse)
- หยาบปานกลาง (Bastard)
- ละเอียดปานกลาง (Second cut)
- ละเอียด (Smooth)
- ละเอียดมาก (Dead Smooth)
ตะไบที่นิยมใช้ส่วนมาก จะเป็นตะไบแบบฟันหยาบปานกลาง, ตะไบแบบฟันละเอียดปานกลาง และตะไบแบบฟันละเอียด สำหรับตะไบแบบฟันหยาบมาก, แบบฟันหยาบ และฟันละเอียดมาก จะใช้ในงานเฉพาะอย่างเท่านั้น โดยความหยาบละเอียดของตะไบจะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดความยาวของตะไบ ตะไบที่มีขนาดใหญ่ จะมีฟันหยาบกว่าตะไบที่มีขนาดเล็ก ดังนั้น ตะไบขนาดเล็ก แบบฟันหยาบมาก อาจจะมีความหยาบละเอียดของฟันตะไบเท่ากับตะไบขนาดใหญ่แบบฟันละเอียดปานกลางก็เป็นได้
ประเภทของตะไบ
ตะไบแบ่งออกเป็น 7 ชนิดตามรูปร่าง และลักษณะการใช้งาน ดังนี้
1. ตะไบแบน (Flat File) หน้าตะไบเป็นรูปสี่แหลี่ยนพื้นผ้า นิยมใช้กับงานทั่ว ๆ ไป
2. ตะไบกลม (Round File) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตะไบหางหนู (Rat Tail File) ฟันของตะไบมีทั้งแบบลายตัดเดี่ยว และลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบส่วนโค้งของชิ้นงาน ใช้ตะไบขยายขนานรูกลม และใช้ตะไบร่องโค้ง
3. ตะไบสี่เหลี่ยม (Square File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบชิ้นงานที่เป็นมุมฉาก นอกจากนี้ยังใช้ในการตะไบขยายขนาดร่อง หรือ รูชิ้นงานที่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น ร่องลิ่ม และร่องเฟืองสไปล์น (Splines) เป็นต้น
4. ตะไบท้องปลิง (Half Round File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้งานผิวงานที่เป็นโค้ง
5. ตะไบสามเหลี่ยม (Three Square File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบมุมของชิ้นงานที่มีมุมน้อยกว่า 90 องศา
6. ตะไบปลายมีด (Knife File) ฟันตะไบเป็นแบบลายตัดคู่ นิยมใช้ในงานตะไบร่องงานที่มีขนาดแคบ ๆ ลักษณะตะไบปลายมีด
7. ตะไบปลายงอ (Liffler’s File) ตะไบชนิดนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในงานทำแม่พิมพ์โลหะ (Tool and Die) และงานทำแม่พิมพ์พลาสติก (Mold) โดยเฉพาะ
วิธีใช้ตะไบ
- การใช้ตะไบต้องตรวจสอบชิ้นงานให้ยึดติดกับปากกาให้แน่น
- มือซ้ายจับที่ปลายตะไบ ส่วนมือขวาจับที่ด้ามตะไบ
- วางตะไบให้สัมผัสกับผิวชิ้นงาน แล้วดันไปข้างหน้า เมื่อสิ้นสุดชิ้นงานให้ดึงกลับ ทั้งนี้จะต้องถูไปมาให้หน้าตะไบสัมผัสกับชิ้นงานตลอด
- การใช้ตะไบ ควรเลือกตะไบให้เหมาะสมกับลักษณะงาน
- การตะไบทุกครั้ง จะต้องดันตะไบไปข้างหน้าแล้วดึงกลับ ไม่ควรถูตะไบไปมาอย่างรวดเร็ว
- ก่อนใช้ตะไบ และกบทุกครั้ง ควรตรวจสอบสภาพให้พร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยต่อตนเอง และผู้อื่น
การจัดเก็บบำรุงรักษาตะไบ
- ตรวจดูความเรียบร้อยของใบกบก่อนเก็บเข้าที่
- ทำความสะอาดตัวกบ โดยใช้แปรงปัดเศษไม้ออก
- ชโลมน้ำมันใบกบ ก่อนเก็บเข้าที่เก็บ
- ทำความสะอาดตะไบ โดยใช้แปรงทองเหลืองปัดเศษโลหะออก
- ไม่ควรวางตะไบทับกัน เพราะจะทำให้คมตะไบสึกหรอได้ง่าย
ดังนั้น การเลือกใช้ตะไบให้ถูกต้องตามคุณสมบัติเฉพาะของมัน เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อที่จะได้งานที่มีคุณภาพและเนื้องานที่ดีนั่นเอง บทความนี้คงทำให้หลายคนได้ความรู้เรื่องตะไบไม่มากก็น้อย 👍
ที่มา : Kacha
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น