คีม มีกี่ประเภท ใช้งานอย่างไรบ้าง?
คีม (Pliers) เป็นเครื่องมือจับยึดชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับการจับชิ้นงานเพื่อทำงานใด ๆ ให้ติดกันหรือดึงชิ้นงาน นอกจากนั้นยังใช้จับ บีบ ดัด ตัด คือใช้ในงานตัดวัตถุที่ไม่แข็งแรงมากนัก เช่น สายไฟฟ้า ลวด หรือสลักล็อคขนาดเล็ก ซึ่งคีมแต่ละประเภทได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานเฉพาะทาง และมีรูปร่างกับโครงสร้างที่ต่างกันไป ตามลักษณะการใช้งาน คีมบางตัวออกแบบมาเพื่อใช้งานหลายหน้าที่ เช่น ทั้งในการจับงาน และตัดชิ้นงาน คีมบางแบบมีข้อต่อเลื่อน ที่สามารถปรับขนาดความกว้างของปากในการจับชิ้นงานได้
บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักการแบ่งประเภทของคีม และเรียกชื่อ จะเป็นไปตามลักษณะ การใช้งาน ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน คือ มีส่วนด้ามจับ และส่วนหัวจับ สามารถแบ่งประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้
1. คีมตัดข้าง (คีมปากจระเข้)
เป็นเครื่องมือช่างที่มีลักษณะการนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย ปากคีมมีคมไว้สำหรับตัดด้านข้าง และสามารถใช้จับชิ้นงานได้อยู่ภายในตัวเดียวกัน
2. คีมปากแหลม (คีมปากจิ้งจก)
ใช้สำหรับจับโลหะแบน หรือสายไฟ ปากคีมมีลักษณะเรียวแหลม และมีขนาดเล็ก เหมาะกับการใช้งานในที่แคบ และงานไฟฟ้า
3. คีมปากขยาย
ปากคีมมีลักษณะโค้งมน และสามารถขยายออก หรือลดให้แคบลงได้ ลักษณะด้านใน จะทำโค้งเว้าไว้ทั้งสองข้างและมีร่องฟัน เพื่อใช้ในการจับ ด้านกลม บริเวณปลายปากจะแบนเรียบมีร่องฟัน สามารถปรับปากให้แคบ หรือขยายให้กว้างได้ด้วยสลักเกลียว ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดหมุนใช้จับงานทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องการความละเอียด หรือความประณีตมากนัก เหมาะสำหรับจับงานร้อนและงานที่มีขนาดใหญ่ที่คีมธรรมดาไม่สามารถจับได้ หรือการใช้งานที่เกี่ยวกับเครื่องกลและงานเครื่องยนต์ประเภทต่าง ๆ
4. คีมปากกลม
ปากด้านนอกมีลักษณะกลม ส่วนปากด้านในจะเจียระไนให้มีลักษณะแบนทั้งสองข้าง ด้ามหุ้มด้วยปลอกพลาสติกหุ้ม เหมาะสำหรับงานดัด งานที่เป็นรูห่วง หรือดัดห่วง และงานที่มีความละเอียด เช่น งานไฟฟ้า งานอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
5. คีมปากนกแก้ว หรือ คีมตัด
เป็นเครื่องมือช่างที่ใช้สำหรับงานตัดโดยเฉพาะ ปากคีมมีลักษณะคล้ายกับปากนกแก้ว ส่วนปลายของปากจะมีลักษณะเป็นคมตัดโดยหันขวางกับด้านคม ที่ด้ามจับมีฉนวนหุ้มเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ใช้สำหรับตัดเหล็ก เส้นลวด และคีมชนิดนี้ไม่สามารถจับชิ้นงานได้
6. คีมล็อค
ใช้จับนอต หรือชิ้นงาน เพื่อป้องกันการหมุน หรือเลื่อนโดยปากปรับขยายให้กว้างได้ และล็อคให้แน่น ออกแบบเป็นพิเศษ ใช้งานเฉพาะ ปลายด้ามมีสกรูปรับ มีแบบธรรมดา แบบปากแหลม แบบใช้งานเชื่อม ใช้สำหรับจับหรือบีบชิ้นงานที่แน่นมาก บีบท่อน้ำยาแอร์
7. คีมปอกสายไฟ
เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานต่าง ๆ เกี่ยวกับสายไฟฟ้าทำได้สะดวกขึ้น คีมชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อการปอกฉนวนไฟฟ้าที่หุ้มลวดทองแดงอยู่ โดยจะตัดเฉพาะส่วนที่เป็นฉนวนพลาสติก โดยไม่ตัดเส้นลวดทองแดง และยังใช้สำหรับการตัดสายไฟ และใช้ในการย้ำขั้วหางปลาให้ยึดติดกับปลายสายไฟฟ้าด้วย
การใช้คีมให้ปลอดภัย ทำได้อย่างไร?
- เลือกใช้คีมให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของคีมชนิดนั้น ๆ เช่น คีมตัดไม่เหมาะกับการใช้จับ คีมตัดสายไฟฟ้า ไม่เหมาะที่จะใช้ตัดแผ่นโลหะ เป็นต้น
- ฟันที่ปากของคีมจับ ต้องไม่สึกหรอ ส่วนปากของคีมตัดต้องไม่ทื่อ
- การจับคีม ควรให้ด้ามคีมอยู่ที่ปลายนิ้วทั้ง 4 แล้วใช้อุ้งมือ และนิ้วหัวแม่มือกดด้ามคีมอีกด้าน จะทำให้มีกำลังในการจับ หรือตัด
- การปลอกสายไฟฟ้า ควรใช้คีมปลอกสายไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพราะจะมีขนาดของรูปเท่ากับขนาดของสายไฟฟ้าพอดี ส่วนการตัดสายไฟฟ้า หรือเส้นลวดที่ไม่ต้องการให้โผล่จากชิ้นงานควรใช้คีมตัดปากทแยง
- ไม่ควรใช้คีมตัดโลหะที่มีขนาดใหญ่ หรือแข็งเกินไป แต่ให้ใช้กรรไกรแทน
- ไม่ควรใช้คีมขัน หรือคลายหัวน็อต เพราะจะทำให้หัวน็อตชำรุด
- ถ้าต้องจับชิ้นงานให้แน่นควรใช้คีมล็อก
- ถ้าชิ้นงานมีขนาดใหญ่ ควรใช้คีมปากขยาย การใช้คีมที่ปากเล็ก จะไม่มีกำลังที่จะจับชิ้นงานให้แน่น เพราะด้ามของคีมจะถ่างมากไป
- ถ้าต้องการเก็บคีมไว้นาน ควรหยอดน้ำมันที่จุดหมุนของคีม และควรมีการหยอดน้ำมันเป็นระยะ
- หลังจากเลิกใช้งานประจำวัน ควรเช็ดทำความสะอาด แล้วเก็บไว้ในที่ที่จัดเตรียมไว้หรือที่ปลอดภัย
การบำรุงรักษา
- ใช้คีมให้ถูกประเภทกับงาน
- ไม่ควรบีบคีมแรงเกินไปเพราะจะทำให้คีมหัก
- ไม่ควรใช้ค้อนทุบคีมแทนการตัด
- ไม่ใช้คีมแทนค้อนหรือเครื่องมืออื่นๆ
- เช็ดทำความสะอาด หยดน้ำมันที่จุดหมุน แล้วชโลมน้ำมันหลังการใช้งาน
เครื่องมือประเภทคีม จัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีใช้แทบทุกลักษณะงานซ่อม เครื่องมือดังกล่าวนี้ได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้เหมาะสมกับงานในลักษณะแตกต่างกัน เช่น คีมตัดสายไฟฟ้า, คีมช่างไฟฟ้า, คีมปอกฉนวน, คีมปากยาว, คีมถอดแหวนล็อก เป็นต้น
❝ คีมมีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป มีให้เราได้เลือกหลายรุ่น หลายยี่ห้อ เพียงเราเลือกซื้อให้เหมาะสมกับลักษณะงาน การใช้งานให้ถูกต้อง รู้จักเก็บรักษาสว่านและเครื่องมือช่างต่าง ๆ ก็จะสามารถอยู่คู่กายเราไปได้อีกนาน หวังงว่าบทความนี้จะทำให้หลาย ๆ คนรู้จักและเข้าใจคีมแต่ละชนิดไม่มากก็น้อย 👍 ❞
ที่มา : Kacha
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น