ท่อประปา แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไรนะ?
❝ เนื่องจาก น้ำ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต โดยเฉพาะระบบประปาย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน การจัดระบบน้ำด้วยการวางท่อประปาจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยทำให้การส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และช่วยลดปัญหาในการซ่อมแซมในอนาคตนั่นเอง ซึ่งทุกคนคงจะคุ้นเคยกับท่อประปาสีฟ้าที่เราเห็นตามบ้านเรือนกัน ซึ่งรู้ไหมว่า “ท่อประปา” ที่มีอยู่ท้องตลาดทั่วไปนั้นมีมากกว่าสีฟ้า และนอกจากสีฟ้าแล้ว ยังมีสีอะไรบ้าง แล้วแต่ละสีมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร ❞
วันนี้ KACHA จะพาไปรู้จักท่อประปาให้มากขึ้นกัน . . .
ท่อประปาคืออะไร?
ท่อประปา เป็นท่อที่ทำหน้าที่ส่งน้ำ หรือลำเลียงน้ำจากแหล่งกำเนิด ขึ้นมาจ่ายตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน, อาคาร, สำนักงาน ซึ่งโดยปกติแล้วท่อน้ำที่ใช้ภายในบ้านนั้นจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 3/4 – 1 นิ้ว โดยมีอยู่มากมายหลายประเภทตามลักษณะการใช้งานนั่นเอง
ประเภทของท่อประปา
ท่อประปามีหลากสีหลายแบบ แบ่งได้ 5 ประเภท ดังนี้
1. ท่อ PVC (PVC ย่อมาจาก Poly Vinyl Chloride) แบ่งแยกการใช้งานตามสีต่าง ๆ ดังนี้
► ท่อสีเหลือง เป็นท่อสำหรับร้อยสายไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ เพราะสามารถทนต่อความร้อนได้อย่างดี
► ท่อสีฟ้า เป็นท่อที่ใช้กับระบบน้ำ เช่น น้ำดี น้ำเสีย และการระบาย สามารถทนแรงดันน้ำได้มากน้อยตามประเภทการใช้งาน (มีหลายเกรด)
► ท่อสีเทา เป็นท่อที่ใช้สำหรับการเกษตร หรือน้ำทิ้ง มีราคาค่อนข้างถูก ไม่ค่อยแข็งแรง ควรจะเดินลอยไม่ควรฝังดิน
จุดแข็งของท่อ PVC | จุดอ่อนของท่อ PVC |
---|---|
นิยมนำมาใช้ในการงานระบบประปาคือน้ำหนักที่เบาและราคาค่อนข้างถูก สามารถดัดรูปแบบได้ตามแนวที่ต้องการ นอกจากนั้น เนื่องจากท่อ PVC ทำมาจากพลาสติกโพลีเมอร์จึงทำให้เมื่อใช้เป็นเวลานานจะไม่เกิดสนิมเกาะอันทำให้น้ำไม่สะอาดได้ | มีความเปราะบางที่ไม่สามารถทนต่อแรงกระทบกระทั่งแรง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงดันน้ำ อุณหภูมิของอากาศ ตลอดจนการถูกกระแทกด้วยของแข็งต่าง ๆ ทำให้พบว่าบ่อยครั้งที่มีเหตุท่อ PVC แตกหรือรั่วบ่อย ๆ |
ท่อ PVC เป็นประเภทท่อประปาที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ท่อ PVC มีหลายขนาดให้เลือกใช้ ตั้งแต่ 3 – 6 เมตร
2. ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสี
ทำจากเหล็กกล้า ผ่านการอาบ สังกะสี สามารถทำเกลียวได้ง่าย ท่อเหล็กอาบสังกะสี ปลายท่อทำเกลียวมาให้พร้อม มีแบบหนาปานกลาง ที่ท่อจะคาดสีน้ำเงิน และอย่างหนาที่ท่อคาดสีแดง
ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสีหรือที่เราเรียกกันว่าท่อประปากัลวาไนซ์ (Galvanized Pipe) หรือบางครั้งเรียกว่า แป๊บ ซึ่งแบ่งตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ : มอก.277-2532 มีชั้นความหนา 4 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 : คาดเหลือง (ผนังท่อบาง, BS-S) มีขนาดตั้งแต่ 15 – 100 มม. (0.5 – 4 นิ้ว) ความหนามีขนาดตั้งแต่ 2.0-3.6 มม. (ขึ้นอยู่กับขนาดท่อ) |
ประเภทที่ 2 : คาดน้ำเงิน (ผนังท่อปานกลาง, BS-M) มีขนาดตั้งแต่ 15 – 150 มม. (0.5 – 6 นิ้ว) ความหนามีขนาดตั้งแต่ 2.6-5.0 มม. (ขึ้นอยู่กับขนาดท่อ) |
ประเภทที่ 3 : คาดแดง (ผนังท่อหนา, BS-H) มีขนาดตั้งแต่ 15 – 150 มม. (0.5 – 6 นิ้ว) ความหนามีขนาดตั้งแต่ 3.2-5.4 มม. (ขึ้นอยู่กับขนาดท่อ) |
ประเภทที่ 4 : คาดเขียว (ผนังท่อหนาพิเศษ) มีขนาดตั้งแต่ 65 – 200 มม. (2.5 – 8 นิ้ว) ความหนามีขนาดตั้งแต่ 5.2-8.2 มม. (ขึ้นอยู่กับขนาดท่อ) |
หมายเหตุ การวัดขนาดท่อจะวัดที่เส้นผ่ายศูนย์กลางด้านใน และความยาวของท่อทั้ง 4 ประเภท จะมีความยาวที่ 6 เมตรต่อเส้น
ท่อประปาประเภทนี้ โดดเด่นในด้านความทนทานต่อสนิม มีความแข็งแรงสูง รองรับการกระแทกและน้ำหนักมากได้ดี ไม่หักงอง่าย และยังสามารถทนทานต่อความดันและความร้อนสูงได้เป็นอย่างดี ท่อส่งน้ำเหล็กอาบสังกะสีจึงนิยมใช้ควบคู่กับเครื่องทำน้ำร้อนและอุปกรณ์ทำความร้อนประเภทอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ท่อประปาประเภทนี้เนื่องจากทำจากเหล็กและมักฝังอยู่ในดิน ทำให้ยากต่อการตรวจสอบและซ่อมแซม รวมทั้งยังอาจเกิดสนิมขึ้นมาได้หากมีการใช้งานเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี
3. ท่อไซเลอร์
ภายนอกเป็นท่อเหล็ก GSP ภายในเป็นท่อ PE มีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี, ทนทานต่อแรง กระแทกได้, ไม่หักงอ, ทนต่อความดันได้มากกว่า 20 บาร์ และอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซลเซียส, ไม่เป็นสนิม เหมาะสำหรับใช้ติดตั้งในโรงแรม อาคารขนาดใหญ่ สถานที่ ๆ ที่ต้องการความทนทานสูง หรือสถานที่ที่ยากต่อการซ่อมแซม ท่อชนิดนี้มีราคาสูงเมื่อเทียบกับท่อชนิดอื่น
4. ท่อพีพีอาร์
เกิดจากการ Random Copolymer Polypropylene ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง (Thermoplastic) ใช้วิธีเชื่อมต่อระหว่างท่อกับข้อต่อด้วยวิธีการหลอมให้ความร้อน จึงทำให้ท่อและข้อต่อสามารถเชื่อมผสานกันเป็นเนื้อเดียวกัน มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาการรั่วซึมที่บริเวณจุดต่อเชื่อมระหว่างท่อและข้อต่อ สารมารถใช้ได้ทั้งท่อน้ำร้อนและน้ำเย็น แข็งแรง ทนแรงดันได้สูงถึง 20 บาร์ อายุการใช้งาน ยาวนานกว่า 50 ปี ไม่เป็นสนิม สะอาด สามารถใช้เป็นท่อน้ำดื่มได้ เหมาะสำหรับใช้ติดตั้งในบ้านพักอาศัย, คอนโด, ตึกแถว, อาคารขนาดเล็กและขนาดใหญ่
5. ท่อ PE (Poly Ethylene)
ท่อโพลีเอทิลีน (HDPE) เป็นท่อพลาสติกอีกหนึ่งชนิด ซึ่งมีทั้งที่นำไปใช้เป็นท่อน้ำ และท่อร้อยสายไฟ มีความยืดหยุ่นสูงแต่ไม่สามารถนำมาใช้งานระบบน้ำร้อนได้ เหมาะสำหรับงานระบบประปาที่ฝั่งอยู่ใต้ดิน เพราะหากมีการทรุดตัวของดินไปกดทับท่อจะไม่ทำให้ท่อแตก แต่ท่อชนิดนี้มีข้อจำกัด หากนำมาใช้กับงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของบรรยากาศภายนอกมาก ด้วยคุณสมบัติของเม็ดพลาสติกเองจะทำให้มีการยืดตัวสูง และเกิดท่อย้วยในที่สุด
มาตรฐานของท่อประปา มีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันมีท่อประปาที่ถูกนำไปใช้งานอยู่มากมาย โดย 5 ประเภทข้างต้นก็ได้รับความนิยมจากคนไทยจำนวนมาก แต่การเลือกท่อประปาที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีนั้น ท่อประปา โดยเฉพาะท่อ PVC จะต้องถูกผลิตขึ้นด้วยกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และมี มอก. กำกับทุกท่อเพื่อประกันคุณภาพว่าท่อที่จะนำมาใช้งานวางระบบประปานั้นมีคุณภาพและความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะต้องนำมาใช้สำหรับการดื่มและอาบ เรื่องความสะอาดไร้มลพิษปนเปื้อนจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการเลือกท่อประปาคุณภาพดี ไว้ใจได้ และมีระยะเวลาการใช้งานยาวนาน
การเลือกท่อประปาให้เหมาะสมกับการใช้งาน ควรเลือกท่อประปาประเภทที่มีความทนทานต่ออุณหภูมิ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนไม่เป็นสนิมเมื่อใช้เป็นเวลานาน รวมทั้งสามารถซ่อมแซมได้ง่ายในกรณีที่มีปัญหา หวังว่าบทความนี้คงทำให้หลายคนกล้าตัดสินใจเลือกท่อประปาที่เหมาะสมต่อการวางระบบน้ำและงบประมาณได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย 🥰
ที่มา : Kacha
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น