ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

คานทับหลัง-เสาเอ็น คืออะไร?

  • 210120-Content-คานทับหลัง-เสาเอ็น-คืออะไร-01


    งานก่อผนังนั้นไม่ถือเป็นงานโครงสร้างอาคาร เพราะไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำหนักการใช้งานของตัวบ้านโดยตรง คานทับหลังและเสาเอ็น มีหน้าที่ช่วยโยงยึดผนังก่อกับพื้นคาน หรือเสาโครงสร้างบ้าน เพื่อ
    ช่วยลดระยะช่วงผนังก่อ ทำให้ผนังมีความแข็งแรงมากขึ้น ดังนั้น งานผนังจึงต้องคำนึงถึงความแข็งแรงร่วมกับความสวยงามทางด้านสถาปัตยกรรมด้วย ซึ่งชิ้นส่วนของผนังที่ทำหน้าที่เป็นกระดูกในการรับน้ำหนัก เรียกกันว่า “คานทับหลัง-เสาเอ็น” นั่นเอง และสิ่งเหล่านี้มีคุณสมบัติการใช้งานอย่างไร? วันนี้ KACHA จะพาไปทำความรู้จักกัน 😊


    คานทับหลังและเสาเอ็น คืออะไร?


    เสาคอนกรีตเปรียบเสมือนกระดูก เสาเอ็นก็เปรียบเสมือนเส้นเอ็นที่ช่วยยึดผนังในแนวดิ่งให้ประสานกับวงกบประตูหรือหน้าต่าง ช่วยให้สามารถรับน้ำหนักของวัสดุ และแรงกระแทกได้มากยิ่งขึ้น

    ลักษณะของเสาเอ็นจะทำด้วยการใช้เหล็กเส้นขนาด 6-9 มิลลิเมตร 2 เส้น และต้องทำปลอกลักษณะเป็นห่วงรัดทุก ๆ ระยะ 15-20 ซม. ซึ่งมักจะใช้ร่วมกับคานทับหลังที่เป็นโครงสร้างของผนัง ใช้ยึดผนังในแนวราบ โดยจะใส่เสาเอ็นและคานทับหลังในทุก ๆ พื้นที่ 5-6 ตารางเมตร ของการก่อผนังอิฐ ด้วยเหตุนี้เสาเอ็นและคานทับหลัง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการก่อผนัง ไม่ว่าวัสดุที่ใช้ก่อผนังนั้น จะเป็นอิฐแดงแบบไหนก็ตามจำเป็นต้องมีคานทับหลังทั้งสิ้น


    มาตรฐานงานคานทับหลังและเสาเอ็น เป็นแบบไหน?

    งานคานทับหลังและเสาเอ็นต้องมีขนาดไม่เล็กกว่า 10 ซ.ม. และมีความกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างผนังก่อ ส่วนคอนกรีตที่จะใช้หล่อ เสาเอ็นและคานทับหลังนั้น จะเป็นคอนกรีตที่ใช้หินขนาดเล็ก เพื่อให้ง่ายต่อการเทคอนกรีต ซึ่งใช้อัตราส่วนผสม ปูน 1 ส่วน ต่อทราย 3 ส่วน ต่อหิน 4 ส่วน (1:3:4)

    สำหรับหรับซีเมนต์ที่ใช้ผสมทำ เสาเอ็นและคานทับหลัง สามารถใช้ซิลิกาซีเมนต์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ซีเมนต์ปอร์ตแลนด์

    210120-Content-คานทับหลัง-เสาเอ็น-คืออะไร-03


    👉 กล่าวคือคานทับหลัง เป็นโครงสร้างของผนังที่ใช้ยึดผนังในแนวราบ ส่วนเสาเอ็น คือ โครงสร้างของผนังที่ใช้ยึดผนังในแนวดิ่ง แต่ด้วยความยุ่งยากของงานก่อผนังในการติดตั้งวงกบ ประตู-หน้าต่าง ที่จะต้องทำการหล่อคานทับหลังและเสาเอ็น ซึ่งทำให้สูญเสียทั้งแรงงาน และเวลาเป็นอย่างมาก ทำให้บางครั้งการติดตั้งคานทับหลังและเสาเอ็นภายในผนังก่อไม่ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งไม่ได้มีการใส่คานทับหลังและเสาเอ็นตามมาตรฐานทางสถาปัตยกรรมที่ควรจะเป็น ดังนั้น การเลือกใช้คานทับหลังสำเร็จรูปแทนการหล่อคานทับหลังและเสาเอ็นแบบเดิมจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยประหยัดเวลา และ แรงงานได้เป็นอย่างดี

    คุณสมบัติของ คานทับหลังสำเร็จรูป
     ติดตั้งได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา
     ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเงิน
     น้ำหนักเบา เป็นฉนวนกันเสียง และความร้อนได้ดี
     ส่งมอบงานได้เร็วกว่ากำหนด
     ผ่านการอบด้วยไอน้ำ ไม่ยืดหดตัว
     มีความแข็ง​แรง​ สามารถตอกหรือเจาะได้


    ตำแหน่งที่ต้องทำ คานทับหลังและเสาเอ็น

     เสาเอ็นคือ บริเวณมุมผนังทุกมุม หรือผนังที่ก่อหยุดลอย ๆ โดยไม่ติดเสาอาคาร หรือตรงบริเวณที่ผนังก่อติดกับวงกบประตู-หน้าต่าง ในกรณีผนังก่อที่กว้างเกินกว่า 3 เมตร จะต้องมีเสาเอ็นแบ่งครึ่งช่วงสูงตลอดความสูงของผนังคอนกรีต

     คานทับหลังคือ ผนังก่อที่ก่อสูงไม่ถึงท้องพื้น หรือคาน หรือผนังที่ก่อชนใต้วงกบหน้าต่าง หรือเหนือวงกบประตู-หน้าต่างที่ก่อผนังทับด้านบน ในกรณีผนังก่อที่สูงเกินกว่า 3 เมตร จะต้องมีคานทับหลัง และระยะระหว่างคานทับหลังจะต้องไม่เกิน 3 เมตร การหล่อคานทับ หลังจะต้องล้วงเหล็กฝากจากเสาเอ็นด้วย เพื่อที่จะสามารถถ่ายเทน้ำหนักจากคานทับหลังไปสู่เสาเอ็นได้

    210120-Content-คานทับหลัง-เสาเอ็น-คืออะไร-04


    ปัญหางานต่าง ๆ ที่พบบ่อย

    • ด้วยข้อจำกัดของการเทคอนกรีตเสาเอ็น จะต้องเว้นช่องว่างไว้ที่ปลายเสาเอ็นส่วนที่ติดกับท้องพื้น หรือคานชั้นบนประมาณ 10 ซ.ม. (สำหรับเทคอนกรีต) ช่างที่มักง่ายจะนำปูนก่อซึ่งเป็นปูนทราย มาอัดบริเวณหัวเสาแทนที่จะใช้คอนกรีตชนิดเดียวกับที่ทำเสาเอ็นมาเก็บงาน
    • ช่างมักจะผสมคอนกรีตเพื่อเตรียมเทคอนกรีตเสาเอ็น-คานทับหลัง ทิ้งไว้นานเกิน 2 ช.ม. เมื่อคอนกรีตเริ่มแข็งตัวก็จะเติมน้ำเพิ่ม ทำให้คอนกรีตขาดคุณภาพส่งผลต่อความแข็งแรงของเสาเอ็น-คานทับหลังลดลง
    • กำหนดตำแหน่งเสาเอ็น-คานทับหลัง ผิดพลาด ไม่ตรงตามมาตรฐานที่ควรเป็น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ควรจัดทำรูปแบบ (Shop drawing) ที่ระบุตำแหน่งของเสาเอ็น-คานทับหลังให้ชัดเจน
    • ปกติเสาเอ็นจะถูกยึดกับผนังก่อด้วยเหล็กเส้นที่โยงมาจากเสาเอ็น ภาษาช่างเรียกว่า “เหล็กหนวดกุ้ง” ซึ่งจะเป็นเหล็กขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 ม.ม. ยาวประมาณ 30 ซ.ม. เจาะเสียบกับผนังก่อทุกระยะ 60 ซ.ม. ซึ่งมักจะพบว่าช่างก่อลืมฝากเหล็กหนวดกุ้งไว้ที่เสาเอ็น หรือฝากไม่ถูกต้องตามมาตรฐานทำให้ผนังก่อกับตัวเสาเอ็น เกิดการถ่ายเทน้ำหนักไม่ดี ผนังไม่แข็งแรง
    • การยึดเสาเอ็นและคานทับหลังด้วย อีพ็อกซี่ (Epoxy) ช่างหน้างาน มักจะใช้สว่านเจาะรูเพื่อเสียบเหล็กเคลือบผิวด้วยอีพ็อกซี่ หากไม่ทำความสะอาดรูเจาะเสียก่อน จะทำให้การยึดเกาะของเหล็กลดลง เนื่องจากจะไปยึดจับกับฝุ่นแทนที่จะยึดติดผิวระหว่างเหล็กกับคอนกรีต
    • ความสะอาดพื้นและผนังก่อ ก่อนการเข้าแบบและเทคอนกรีต เสาเอ็น-คานทับหลัง

    🤔 ถ้าไม่ใส่เสาเอ็น และคานทับหลัง ผนังจะเป็นอย่างไร? ปัญหาของการไม่ใส่ เสาเอ็นและคานทับหลัง คือ ผนังอาจเกิดรอยร้าวในแนวเฉียง บริเวณมุมของวงกบประตู-หน้าต่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำจากฝนรั่วซึมเข้ามาในตัวบ้าน และทำให้วงกบเกิดการบิดตัว ไม่สามารถปิดประตู หน้าต่างได้ นอกจากนี้แรงกระแทกจากการเปิด-ปิด อาจส่งผลต่อความแข็งแรงต่อผนังอีกด้วย


    👉 รู้อย่างนี้แล้ว. . . จะเห็นได้ว่าคานทับหลังและเสาเอ็นมีความสำคัญมากไม่แพ้งานก่อสร้างอื่น ๆ เลย ถ้าหากมีช่างก่อสร้างบอกว่า เสาเอ็นและคานทับหลังไม่สำคัญ เพราะผนังที่ก่อแข็งแรงอยู่แล้ว อย่าเพิ่งเชื่อกันนะจ๊ะ ควรศึกษาและพูดคุยกันให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อผนังบ้านที่แข็งแกร่ง ทนทาน และอยู่กับเราได้ไปนาน ๆ 🥰


    ที่มา : Kacha

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    ตลับเมตร วิธีใช้งานและการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

    ฝ้าทีบาร์ คืออะไร ข้อควรรู้ก่อนนำไปใช้งาน

    บ่อเกรอะ บ่อซึม มีลักษณะเป็นอย่างไร?